[:TH]ความรู้เรื่องดิน[:]

[:TH]

ความรู้เรื่องดิน

ดินคืออะไร คำจำกัดความของ “ดิน” ในทางการเกษตร จะหมายถึงวัตถุที่เกิดขึ้นจากการผุพังของหินและแร่ธาตุต่างๆ ผสมคลุกเคล้ากับซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยแล้ว ซึ่งเรียกว่าอินทรียวัตถุ ทำให้เกิดเป็นวัตถุที่เรียกว่า ดิน ซึ่งเป็นที่ให้พืชต่างๆ เจริญงอกงามอยู่ได้

ดินประกอบด้วยส่วนสำคัญ 4 ส่วน คือ

  1. แร่ธาตุ

  2. อินทรียวัตถุ (ซากพืช ซากสัตว์ ที่เน่าเปื่อยแล้ว)

  3. น้ำ

  4. อากาศ

ส่วนประกอบของดินที่เป็นแร่ธาตุนั้นได้มาจากการสลายตัวผุพังของหิน และแร่ชนิดต่างๆ มากมายหลายชนิด แตกต่างกันไปตามท้องที่ ดังนั้นดินในแต่ละท้องที่จึงมีส่วนประกอบของธาตุต่างๆ มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป และแร่ธาตุเพียงบางชนิดเท่านั้นที่พืชจะดูดขึ้นมาใช้เป็นอาหารส่วนของแร่ธาตุจะเป็นส่วนประกอบที่มีมากที่สุดในดิน คือ จะมีประมาณ 45% โดยปริมาตร ส่วนอินทรียวัตถุในดินได้มาจากการเน่าเปื่อยผุผัง ของซากพืชซากสัตว์ที่ตายแล้วทับถมกันอยู่บนดิน อินทรีย์ในดินมีความสำคัญมาก คือ

  1. เป็นแหล่งให้ธาตุอาหารพืชบางชนิด

  2. ทำให้ดินสามารถอุ้มน้ำได้ดีขึ้น

  3. ทำให้ดินตรึงธาตุอาหารไว้ได้มากขึ้น

  4. ทำให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น

    อินทรียวัตถุในดิน แม้จะมีปริมาณที่น้อย เมื่อเทียบกับส่วนประกอบอื่นๆ ของดิน คือมีประมาณ 5% โดยปริมาตร แต่เป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อพืชมาก

    น้ำในดินส่วนมากมาจากน้ำฝน เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนบางส่วนจะไหลซึมลงไปในดิน และบางส่วนจะไหลบ่าไปตามผิวหน้าดิน น้ำฝนส่วนที่ไหลซึมลงไปในดิน จะถูกดูดซับไว้ในช่องระหว่างเม็ดดิน ดินแต่ละชนิดจะอุ้มน้ำไว้ได้มากน้อยไม่เท่ากัน ดินทรายจะอุ้มน้ำได้น้อยกว่าดินเหนียว

    ดินที่เหมาะต่อการเพาะปลูกพืชควรมีส่วนที่เป็นน้ำอยู่ประมาณ 25% โดยปริมาตร น้ำในดินนั้นไม่ใช่น้ำบริสุทธิ์ แต่จะมีแร่ธาตุต่างๆ ละลายอยู่ และพืชจะดูดดึงเอาแร่ธาตุบางชนิดที่ละลายอยู่ในน้ำไปใช้เป็นอาหาร พืชกินอาหารในรูปของสารละลาย ฉะนั้นถ้าปราศจากซึ่งน้ำหรือความชื้นในดิน แม้จะมีธาตุอาหารอยู่มากในดิน พืชก็ไม่สามารถดูดขึ้นไปใช้ได้

    ส่วนประกอบส่วนที่ 4 ของดิน คือ อากาศในดิน มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของพืชเช่นกัน เพราะการที่รากจะดูดอาหารขึ้นไปใช้ได้นั้น รากพืชต้องใช้พลังงาน และพลังงานนั้นได้มาจากการหายใจ ดังนั้นในดินที่มีน้ำขังหรือดินที่แน่นทึบ พืชจะไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร เพราะรากพืชขาดอากาศสำหรับหายใจ จึงทำให้ไม่สามารถดูดธาตุอาหารขึ้นไปใช้ได้

    จากดิน 100 ส่วน โดยปริมาตร เมื่อหักส่วนที่เป็นแร่ธาตุอินทรียวัตถุ และน้ำจึงเหลือเป็นส่วนของอากาศ 25 ส่วน โดยปริมาตรส่วนประกอบของดินที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยปริมาตร ดินเป็นสิ่งที่มี 3 มิติ มีทั้ง ความกว้าง ความยาว และความลึก

– ถ้าเราขุดลงไปในดินลึกๆ และสังเกตดินข้างหลุมให้ละเอียด เราจะเห็นว่าดินสามารถแบ่งออกเป็นชั้น ๆ ได้ตามความลึก

– ดินในแต่ละท้องที่มีชั้นดินไม่เหมือนกัน จำนวนชั้นของดินก็มากน้อยไม่เท่ากัน ความตื้น ความลึกของดินแต่ละชั้นไม่เท่ากัน สีของดินแต่ละชั้นไม่เท่ากันและไม่เหมือนกัน และยังมีลักษณะอย่างอื่นแตกต่างกันออกไปอีกมากมาย แต่อย่างไรก็ตามเรายังสามารถแบ่งชั้นดินตามความลึกออกเป็นชั้นได้คร่าวๆ 2 ชั้น ดังรูป

– ดินชั้นบนหรือเรียกว่า ชั้นไถพรวน ดินชั้นนี้มีความสำคัญต่อการเพาะปลูกมาก เพราะรากของพืชส่วนใหญ่จะชอนไชหาอาหารที่ชั้นนี้ ดินชั้นบนนี้เป็นชั้นที่มีอินทรียวัตถุสูงกว่าชั้นอื่นๆ โดยปกติดินจะมีสีเข้ม หรือคล้ำกว่าชั้นอื่น

– ในดินที่มีการทำการเพาะปลูกทั่วๆไป จะมีดินชั้นบนหนาตั้งแต่ 0 – 15 ซม.

– ดินชั้นล่าง รากพืชของไม้ผล ไม้ยืนต้นจะชอนไชลงไปถึงชั้นนี้ ปกติดินชั้นล่างเป็นชั้นที่มีอินทรียวัตถุน้อย

– ดินที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกควรจะมีหน้าดิน (ดินชั้นบน และดินชั้นล่าง) ลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร

สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องอาศัยดินในการยังชีพและเจริญเติบโต สำหรับมนุษย์แล้วดินเป็นแหล่งที่มาของปัจจัยสี่เพื่อการดำรงชีพ เพราะเราได้อาศัยดินสำหรับปลูกพืชที่เป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค

หน้าที่และความสำคัญของดินที่มีต่อการเจริญเติบโตของพืชและการเกษตรกรรม สรุปได้ดังนี้

  1. ดินทำหน้าที่เป็นที่ให้รากพืชได้เกาะยึดเหนี่ยวเพื่อให้ลำต้นของพืชยืนต้นได้อย่างมั่นคง แข็งแรง ขณะที่พืชเจริญเติบโต

รากของพืชจะเติบโตชอนไชหยั่งลึกแพร่กระจายลงไปในดินอย่างกว้างขวางทั้งแนวลึกและแนวราบ ดินที่ร่วนซุยและมีชั้นดินลึก รากพืชจะเจริญเติบโตแข็งแรง สามารถเกาะยึดดิน ต้านทานต่อลมพายุไม่ทำให้ต้นพืชล้มหรือถอนโคนได้

  1. ดินเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช

ทั้งนี้เนื่องจากธาตุอาหารพืชจะถูกปลดปล่อยออกจากอินทรียวัตถุ และแร่ต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของดิน ให้อยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดึงดูดไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย

  1. ดินเป็นแหล่งที่เก็บกักน้ำหรือความชื้นในดิน

ให้อยู่ในรูปที่รากพืชสามารถดึงดูดได้ง่าย เพื่อนำไปหล่อเลี้ยงลำต้นและสร้างการเจริญเติบโต น้ำในดินจะต้องอยู่ในสภาพที่เหมาะสมเท่านั้น ที่รากพืชสามารถดึงดูดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ การรดน้ำพืชจนขังแฉะรากพืชไม่สามารถดึงดูดน้ำขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ จะทำให้พืชเหี่ยวเฉาและตายในที่สุด

  1. ดินเป็นแหล่งที่ให้อากาศในดิน ที่รากพืชใช้เพื่อการหายใจ

รากพืชประกอบด้วยเซลล์ที่มีชีวิต ต้องการออกซิเจนสำหรับการหายใจทำให้เกิดพลังงานเพื่อการดึงดูดน้ำ ธาตุอาหารและการเจริญเติบโต ดินที่มีการถ่ายเทอากาศดี รากพืชจะเจริญเติบโตแข็งแรง ดูดน้ำและ ธาตุอาหารได้มาก ทำให้ต้นพืชเจริญเติบโตแข็งแรงและให้ผลิตผลสูง

ประเภทของดิน แบ่งตามสภาพพื้นที่

  1. ดินที่ลุ่ม หรือที่เรียกกันว่า ดินนา คือ ดินที่เกิดในบริเวณพื้นที่ต่ำ สภาพพื้นที่ราบเรียบถึงค่อนข้างราบ ส่วนใหญ่พบเป็นบริเวณกว้างในภาคกลางและตามที่ราบลุ่มแม่น้ำต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการทำนา และมักมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ในช่วงฤดูฝน

  2. ดินที่ดอน หรือ ดินไร่ คือ ดินที่พบอยู่ในบริเวณพื้นที่ที่มีความลาดชัน สภาพพื้นที่อาจเป็นที่ราบ ที่ลาดเชิงเขา หรือเป็นลูกคลื่น มีการระบายน้ำดี โดยทั่วไปจะไม่มีการขังน้ำเมื่อฝนตก พบอยู่ทั่วไปในภูมิภาคต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่ ไม้ผล หรือไม้ยืนต้นอื่นๆ

ประเภทของดิน แบ่งตามวัสดุที่เป็นองค์ประกอบในดิน

  1. ดินอนินทรีย์ ดินที่พบอยู่ทั่วๆ ไปมักจะเป็น ดินอนินทรีย์ (mineral soils) คือเป็นดินที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นอนินทรีย์สารที่ได้มาจากการผุพังสลายตัวของหิน แร่ ผสมคลุกเคล้าอยู่กับอินทรียวัตถุ ปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่เป็นชั้นบางๆ

2.ดินอินทรีย์ ดินที่เกิดในสภาพป่าพรุ หรือสภาพที่มีน้ำแช่ขังเป็นระยะเวลายาวนานมีพืชชอบน้ำขึ้นอยู่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์ต่างๆ ทำให้เกิดการทับถม และสะสมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นชั้นดินอินทรีย์ หรือชั้น O ขึ้น และเมื่อมีการทับถมมากขึ้นเรื่อย ดินนี้จะกลายเป็นดินอินทรีย์ในที่สุด

ประเภทของดิน แบ่งตามเนื้อดิน (ดินร่วน-ดินเหนียว-ดินทราย)

1.ดินเหนียว เป็นดินที่มีเนื้อละเอียด ในสภาพดินแห้งจะแตกออกเป็นก้อนแข็งมาก เมื่อเปียกน้ำแล้วจะมีความยืดหยุ่น สามารถปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้ เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี แต่สามารถอุ้มน้ำ ดูดยึด และแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้ดี เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน

2.ดินร่วน เป็นดินที่เนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือในสภาพดินแห้งจะจับกันเป็นก้อนแข็งพอประมาณ ในสภาพดินชื้นจะยืดหยุ่นได้บ้าง เมื่อสัมผัสหรือคลึงดินจะรู้สึกนุ่มมือแต่อาจจะรู้สึกสากมืออยู่บ้างเล็กน้อย เมื่อกำดินให้แน่นในฝ่ามือแล้วคลายมือออก ดินจะจับกันเป็นก้อนไม่แตกออกจากกัน เป็นดินที่มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่มีความเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูก

  1. ดินทราย เป็นดินที่มีอนุภาคขนาดทรายเป็นองค์ประกอบอยู่มากกว่าร้อยละ 85 เนื้อดินมีการเกาะตัวกันหลวมๆ มองเห็นเป็นเม็ดเดี่ยวๆ ได้ ถ้าสัมผัสดินที่อยู่ในสภาพแห้งจะรู้สึกสากมือ เมื่อลองกำดินที่แห้งนี้ไว้ในอุ้งมือแล้วคลายมือออกดินก็จะแตกออกจากกันได้ แต่ถ้ากำดินที่อยู่ในสภาพชื้นจะสามารถทำให้เป็นก้อนหลวมๆ ได้ แต่พอสัมผัสจะแตกออกจากกันทันที ดินทราย เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดีมาก แต่มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำเพราะความสามารถในการดูดยึดธาตุอาหารพืชมีน้อย พืชที่ขึ้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งธาตุอาหารและน้ำ

ประเภทของดิน แบ่งตามสมบัติ (ดินดี-ดินไม่ดี)

1.ดินดี ในทางการเกษตรหมายถึง ดินที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปริมาณนินทรีย์วัตถุ อินทรียวัตถุ น้ำ และอากาศ ในสัดส่วนที่เหมาะสม สามารถปลูกพืชได้โดยใช้วิธีการจัดการดูแลตามปกติธรรมดาที่ไม่ยุ่งยาก มักจะมีหน้าดินสีดำหนา มีปริมาณอินทรียวัตถุสูง มีธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชสูง ไม่มีสารที่เป็นพิษต่อพืช มีปฏิกิริยาดินใกล้เป็นกลาง มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างประมาณ 5.5-7.0 และไม่มีชั้นที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืช

2.ดินไม่ดี หรือ ดินเลว คือ ดินที่มีสมบัติทางกายภาพและเคมีไม่เหมาะสม หรือเหมาะสมน้อยสำหรับการเพาะปลูก ส่งผลให้พืชไม่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตตามปกติได ้

ถ้าหากว่าจำเป็นต้องใช้ดินเหล่านี้ในการเพาะปลูกพืช ก็ต้องมีการจัดการแก้ไขให้เหมาะสมเสียก่อน

Cr. http://www.rcfertilizer.com/14788122

[:]

ท่าทรายกนก